Monthly Archives: December 2016

เรือดำน้ำชั้น Ula (Type 210) กับโครงการเรือดำน้ำใหม่ของนอร์เวย์

นอร์เวย์กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ทดแทนเรือชั้น Ula โดยมีผู้ผลิตเรือดำน้ำที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการประกอบด้วย บริษัท DCNS ของฝรั่งเศส, บริษัท Fincantieri ของอิตาลี, บริษัท Navantia ของสเปน, บริษัท TKMS ของเยอรมนี, บริษัท Saab Kockums ของสวีเดน และบริษัท DSME ของเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2559 รัฐบาลนอร์เวย์ได้ทำการคัดเลือกขั้นต้นเหลือเพียง 2 บริษัท คือ บริษัท DCNS ของฝรั่งเศส และบริษัท TKMS ของเยอรมนี จากการพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ, อุตสาหกรรม และการทหาร โดยมีกำหนดประกาศผลการคัดเลือกขั้นสุดท้ายในต้นปี 2560 นี้ นับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของโครงการที่ทั้งบริษัท DCNS และบริษัท TKMS แข่งขันกันอย่างเต็มที่หลังจากที่บริษัท DCNS ได้รับคัดเลือกในโครงการเรือดำน้ำของออสเตรเลียไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

original6

เรือดำน้ำชั้น Ula ของ ทร.นอร์เวย์ (ภาพจาก På dypt vann)

ปัจจุบัน ทร.นอร์เวย์มีเรือดำน้ำชั้น Ula (Type 210) ที่จัดหาจากเยอรมนีจำนวน 6 ลำตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยได้รับการปรับปรุงเรือเพื่อรองรับการปฏิบัติการในพื้นที่เขตร้อนสำหรับเข้าร่วมปฏิบัติการ Operation Active Endeavour ของนาโต้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้รับการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานไปจนถึงทศวรรษที่ 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เรือดำน้ำรุ่นใหม่จะเริ่มเข้าประจำการทดแทน

original10

นายทหารยามนำเรือบนสะพานเดินเรือในช่วงพลบค่ำ (ภาพจาก På dypt vann)

 

เรือดำน้ำชั้น Ula เป็นเรือดำน้ำขนาดกะทัดรัดที่ถูกออกแบบให้สามารถปฏิบัติการได้ทั้งในเขตน้ำลึกและในบริเวณพื้นที่จำกัดใกล้ฝั่ง มีขนาดระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 1,040 ตัน ความยาว 59 เมตร และความกว้างเพียง 5.4 เมตร มีกำลังพลประจำเรือ 21 นาย ซึ่งขนาดเรือที่จำกัดทำให้ความเป็นอยู่ในเรือค่อนข้างแออัดและขาดความเป็นส่วนตัว ทำให้กำลังพลประจำเรือมีความใกล้ชิดกันมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ภายในเรือถูกใช้ไปกับการติดตั้งอุปกรณ์และระบบอาวุธ โดยเรือดำน้ำชั้น Ula ติดตั้งท่อตอร์ปิโดจำนวน 8 ท่อ และสามารถนำตอร์ปิโด DM2A3 ไปกับเรือได้ 14 ลูก และถึงแม้ว่าตัวเรือดำน้ำจะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมปฏิบัติการ Operation Active Endeavour ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นระยะเวลา 35 วัน

original5

ความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่เป็นส่วนตัวในเรือดำน้ำทำให้กำลังพลมีความใกล้ชิดกันมาก (ภาพจาก På dypt vann)

ขีดความสามารถในการซ่อนพรางช่วยให้เรือดำน้ำจำนวนไม่กี่ลำสามารถถ่วงดุลกำลังรบขนาดใหญ่กว่าได้ อีกทั้งเรือดำน้ำยังสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระในพื้นที่ที่มีภัยคุกคามหนาแน่น ส่งผลให้เรือดำน้ำเป็นหนึ่งในกำลังรบหลักของนอร์เวย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอร์เวย์มีชายฝั่งที่มีเกาะแก่งมากและมีสภาพแวดล้อมใต้น้ำที่ซับซ้อน ทำให้การตรวจจับเป้าใต้น้ำมีความยากลำบาก ช่วยให้เรือดำน้ำยิ่งเป็นฝ่ายมีความได้เปรียบ โดย ทร.นอร์เวย์มีแนวความคิดการใช้เรือดำน้ำในอนาคตสำหรับการรวบรวมข้อมูลการข่าวและการสนับสนุนการปฏิบัติการพิเศษเป็นหลัก

original7

ห้องควบคุมระบบขับเคลื่อนและระบบไฟฟ้าในเรือดำน้ำชั้น Ula (ภาพจาก På dypt vann)

ความต้องการอย่างหนึ่งของ ทร.นอร์เวย์ คือระบบขับเคลื่อน AIP ซึ่งช่วยยืดระยะเวลาปฏิบัติการใต้น้ำต่อเนื่องได้นานประมาณ 2 สัปดาห์โดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ โดยหลักการทำงานของระบบขับเคลื่อน AIP คือการใช้ออกซิเจนเหลวในเครื่องยนต์สันดาปหรือในการทำปฏิกริยาเคมีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องอาศัยอากาศจากภายนอก ทำให้ลดโอกาสเปิดเผยตัวในการทำ Snorkel เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เนื่องจากอากาศยานสามารถตรวจจับท่อ Snorkel ได้จากระยะไกล แต่เรือดำน้ำในอนาคตจะมีขีดความสามารถในการป้องกันตัวจากอากาศยานด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำ-สู่-อากาศ ทำให้การใช้อากาศยานในการค้นหาและตรวจจับเรือดำน้ำจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากในปัจจุบัน

original9

ระบบโซนาร์และระบบอำนวยการรบเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติการเรือดำน้ำ (ภาพจาก På dypt vann)

ขีดความสามารถที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเรือดำน้ำคือระบบโซนาร์ เรือดำน้ำใช้โซนาร์ Passive ในการเฝ้าฟังเสียงจากเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ ซึ่งนอกจากการตรวจจับเป้าแล้วเรือดำน้ำยังใช้การฟังเสียงจากโซนาร์ Passive ในการพิสูจน์ทราบและแยกแยะเป้าอีกด้วย นอกจากนี้โซนาร์ของเรือดำน้ำยังสามารถได้ยินเสียงจากสัตว์ทะเล เช่น วาฬและโลมา ซึ่งในช่วงแรกอาจฟังดูน่าสนใจ แต่บางครั้งเสียงจากวาฬและโลมาที่มีจำนวนมากบริเวณนอกชายฝั่งของนอร์เวย์ก็กลายเป็นอุปสรรครบกวนการทำงานของโซนาร์เรือดำน้ำ

original4

ท่อตอร์ปิโดขนาด 533 มม. ในเรือดำน้ำชั้น Ula (ภาพจาก På dypt vann)

ความเด็ดขาดของอาวุธเรือดำน้ำทำให้เรือดำน้ำมีขีดความสามารถในการเป็นอาวุธป้องปรามที่สามารถสร้างความยับยั้งชั่งใจให้กับฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ใช้กำลังในการแก้ไขความขัดแย้งเนื่องจากจะเกิดผลเสียที่ไม่คุ้มค่า โดยเรือดำน้ำชั้น Ula มีท่อต่อปิโดขนาด 533 มม. จำนวน 8 ท่อ สามารถติดตั้งตอร์ปิโด DM2A3 ได้ 14 ลูก ตอร์ปิโดแต่ละลูกมีอำนาจการทำลายที่สามารถทำให้เรือรบขนาดใหญ่ขาดเป็น 2 ท่อนได้ นอกจากนี้นอร์เวย์ยังมีแนวความคิดในการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถี Tomahawk เพื่อให้เรือดำน้ำมีขีดความสามารถในการโจมตีฝั่งลึกเข้าไปในดินแดนฝ่ายตรงข้าม ช่วยให้เรือดำน้ำสามารถรองรับภารกิจที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีฝั่งระยะไกลอาจเป็นเพียงแนวความคิดสำหรับการปรับปรุงเรือในอนาคต (ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มี) โดยตอร์ปิโดหนักยังคงเป็นอาวุธหลักและเป็นหลักประกันในการเป็นอาวุธป้องปรามของเรือดำน้ำ

original8_c

เครื่องถือท้ายและระบบแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ที่แม่นยำ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติการบริเวณพื้นที่จำกัดใกล้ฝั่ง (ภาพจาก På dypt vann)

ในปัจจุบัน ทร.นอร์เวย์มีเรือดำน้ำชั้น Ula จำนวน 6 ลำ ซึ่งโครงการเรือดำน้ำใหม่ในขั้นต้นกำหนดความต้องการเรือดำน้ำใหม่ทดแทนจำนวน 4 ลำ โดยจะเริ่มเข้าประจำการในช่วงกลางทศวรรษที่ 2020 และมีกำหนดเข้าประจำการครบทั้ง 4 ลำในปี ค.ศ.2028 แต่อาจมีการทบทวนจำนวนเรือดำน้ำเพิ่มเป็น 6 ลำในปี ค.ศ.2025 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับงบประมาณในขณะนั้น

original3

กำลังพลประจำเรือดำน้ำชั้น Ula ของ ทร.นอร์เวย์ (ภาพจาก På dypt vann)


ที่มา – På dypt vann : Hvor mange ubåter skal Norge ha? 12? 6? 4? Eller ingen?

3 สัปดาห์ในเรือดำน้ำชั้น 212A ของ ทร.เยอรมนี

แอดมินได้มีโอกาสพิเศษอีกครั้งในการเผยแพร่บทความ “3 สัปดาห์ในเรือดำน้ำชั้น 212A ของ ทร.เยอรมนี” เขียนโดยท่าน โยฮัน เล่าประสบการณ์ที่ได้ไปฝึกปฏิบัติงานในเรือดำน้ำ U32 ของ ทร.เยอรมนี ในการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ที่อังกฤษเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งบทความนี้จะลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “กระดูกงู” ของกองเรือยุทธการในเร็วๆ นี้ครับ


กล่าวนำ

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 6 – 30 กันยายน 2559 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในยุคปัจจุบันที่กำลังพลของ ทร. ได้มีโอกาสสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าเป็นเวลานานถึง 3 สัปดาห์ จึงขอนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเล่าสู่ชาวเรือให้ได้รับทราบกัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดภาพชีวิตความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่างๆ ภายในเรือดำน้ำ ให้กับผู้ที่สนใจจะปฏิบัติงานในเรือดำน้ำตามที่ ทร.กำลังมีโครงการจัดหาในปัจจุบัน

การสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี ริเริ่มมาจากการประชุมโครงการความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงกลาโหมเยอรมนี เป็นความร่วมมือต่อเนื่องจากการสนับสนุนหลักสูตรวิทยาการและเทคโนโลยีเรือดำน้ำเยอรมนีตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี

การสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี แบ่งการปฏิบัติออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การเยี่ยมชมศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 6 – 9 กันยายน 2559 กับการสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำ U32 ของ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 9 – 30 กันยายน 2559 โดยเป็นการออกเรือจากฐานทัพเรือ Eckernförde ไปสนับสนุนการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ของ ทร.อังกฤษ ในบริเวณนอกชายฝั่งเมือง Plymouth ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ

1.png

ห้องเรียนและเครื่องฝึกที่ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี

ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองเรือดำน้ำเยอรมนี มีภารกิจในการผลิตนักเรือดำน้ำให้กับกองเรือดำน้ำ และให้การสนับสนุนการฝึกให้กับชาติพันธมิตร ศูนย์ฝึกฯ แบ่งการฝึกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนการปฏิบัติการและส่วนเทคนิค โดยในแต่ละส่วนจะมีอุปกรณ์การฝึกทั้งที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ประกอบการสอน และระบบ Simulator รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้จริงภายในเรือดำน้ำ จึงทำให้การฝึกมีความสมจริงมาก

การฝึก Flag Officer Sea Training (FOST)

การปฏิบัติในช่วงที่ 2 คือการลงเรือดำน้ำ U32 เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติในเรือ ในระหว่างการสนับสนุนการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ของ ทร.อังกฤษ ซึ่งนอกจากคณะสังเกตการณ์จำนวน 2 นายจาก ทร. แล้ว ยังมีนักเรียนนายเรือเกาหลีใต้ที่ได้รับทุนให้ไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรือเยอรมนี ร่วมลงฝึกงานในเรือดำน้ำ U32 ด้วย

การฝึก FOST ของ ทร.อังกฤษ เป็นการฝึกทดสอบความพร้อมก่อนการออกปฏิบัติการของหน่วยต่างๆ ทั้งของ ทร.อังกฤษ และประเทศสมาชิกนาโต้ มีระยะเวลาการฝึก 6 สัปดาห์ ประกอบด้วยการฝึกสาขาต่างๆ ตั้งแต่การยิงอาวุธประจำเรือ, การปราบเรือดำน้ำ, การป้องกันภัยทางอากาศ, การรับ-ส่งสิ่งของในทะเล, การป้องกันความเสียหาย ไปจนถึงการปราบปรามโจรสลัดและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ในแต่ละสัปดาห์จะมีการฝึกทดสอบสถานการณ์การรบเต็มรูปแบบในทุกวันพฤหัสบดี เรียกว่า Weekly War หรือ Thursday War ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกต้องเผชิญกับสถานการณ์ซับซ้อนที่มีภัยคุกคามหลายมิติในเวลาเดียวกัน

เรือดำน้ำ U32 เข้าร่วมสนับสนุนการฝึก FOST ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้าย ทำหน้าที่เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าฝ่ายข้าศึกในการฝึกปราบเรือดำน้ำ และในการฝึก Weekly War ประจำสัปดาห์ โดยมีเรือรบนาโต้เข้ารับการฝึกกว่า 10 ลำ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ, สหรัฐฯ, เบลเยี่ยม, สเปน, โปรตุเกส และเยอรมนี

2

เส้นทางการเดินทางจากฐานทัพเรือ Eckernförde ของเยอรมนี ไปยังเมือง Plymouth ของอังกฤษ

พื้นที่การฝึก FOST อยู่ทางตอนใต้ของเมือง Plymouth ห่างฝั่งประมาณ 10 – 30 ไมล์ทะเล เป็นพื้นที่การฝึกประจำตามประกาศชาวเรือ (บรรณสาร SUBFACTS/GUNFACTS) ของ ทร.อังกฤษ ลักษณะพื้นที่เป็นบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ความลึกน้ำ 60 – 80 เมตร มีเรือสินค้าและเรือประมงหนาแน่น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ลักษณะพื้นที่มีความใกล้เคียงกับพื้นที่การฝึกในอ่าวไทยมากในแง่ของความลึกน้ำและปริมาณเรือสินค้า-เรือประมงในพื้นที่ โดยเรือดำน้ำ U32 จะรักษาความลึกห่างจากพื้นท้องทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตรเพื่อความปลอดภัย และถึงแม้ว่าเรือดำน้ำ U32 จะทำหน้าที่สนับสนุนการฝึก ไม่ใช่ผู้รับการฝึกโดยตรง แต่การปฏิบัติการในพื้นที่จำกัดที่มีประมาณเรือหนาแน่นก็ถือเป็นการฝึกที่สำคัญอย่างหนึ่งของเรือดำน้ำด้วย

ความเป็นอยู่ในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า

เรือดำน้ำ U32 เป็นเรือดำน้ำชั้น 212A รุ่นแรก (Batch I) ลำที่ 2 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 19 ตุลาคม 2548  มีกำลังพลประจำเรือ 28 นาย (นายทหารสัญญาบัตร 8 นาย, นายทหารประทวน 20 นาย) ระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 1,450 ตัน มีความยาวตลอดลำ 56 เมตร มีท่อตอร์ปิโด 6 ท่อ และคลังตอร์ปิโดภายในเรืออีก 6 ลูก สำหรับตอร์ปิโดแบบ Seahake Mod 4 ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนแบบ Permasyn ขนาด 1,700 กิโลวัตต์ ทำความเร็วสูงสุดได้ 20 นอตใต้น้ำ / 12 นอตบนผิวน้ำ และติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP แบบ Fuel Cell ขนาด 240 กิโลวัตต์

3.jpg

เรือดำน้ำชั้น 212A ของ ทร.เยอรมนี

ในส่วนของคณะสังเกตการณ์ได้นัดหมายกับเรือดำน้ำ U32 ในการขนกระเป๋าสัมภาระลงเรือในเช้าวันที่ 9 กันยายน 2559 ก่อนออกเรือ และเดินทางไปลงเรือที่ปากคลองคีล (Nord-Ostsee Kanal – NOK) ฝั่งตะวันตกในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน โดยเรือดำน้ำ U32 ใช้เส้นทางเดินทางออกจากฐานทัพเรือ Eckernförde ผ่านคลองคีลและช่องแคบอังกฤษ ไปยังเมือง Plymouth ของอังกฤษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 วัน

เมื่อคณะสังเกตการณ์ลงในเรือแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับสั้นๆ จากผู้บังคับการเรือ คือ น.ต.Rudolf Lenthe วัย 34 ปี  ซึ่งมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในเรือดำน้ำประมาณ 6 ปี และจากนั้นต้นเรือได้จัดคณะสังเกตการณ์จำนวน 2 นายแยกปฏิบัติงานตามชุดยามทันที โดยเรือดำน้ำ U32 ใช้ระบบการจัดยาม 2 ชุด ปฏิบัติงานชุดละ 6 ชม. หมุนเวียนตลอด 24 ชม. ยกเว้นเพียง 4 คนที่ไม่อยู่ในชุดยาม แต่ต้องพร้อมปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา คือ ผบ.เรือ, ต้นกล, นายทหารโซนาร์ และเจ้าหน้าที่สหโภชน์

การเข้ายามในเรือดำน้ำ U32 แต่ละผลัดมีกำลังพล 12 นาย ปฏิบัติงานในห้องศูนย์ยุทธการทั้งหมด ภายในห้องศูนย์ยุทธการแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็นส่วนย่อยๆ ประกอบด้วย การถือท้ายและควบคุมเรือ, การเดินเรือ, การตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้า และการรวบรวมภาพสถานการณ์กับการตัดสินใจทางยุทธวิธี ซึ่งการที่ทุกส่วนปฏิบัติงานรวมอยู่ในห้องเดียวกันโดยไม่แยกห้องโซนาร์หรือห้องควบคุมระบบขับเคลื่อน ช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานการปฏิบัติได้อย่างใกล้ชิด โดยกำลังพลในตำแหน่งต่างๆ จะได้รับการฝึกให้สามารถปฏิบัติงานได้หลายหน้าที่ตามสถานีเรือเพื่อช่วยประหยัดจำนวนกำลังพล ตัวอย่างเช่น พนักงานโซนาร์จะต้องทำหน้าที่พนักงานเรดาร์, ยามตรวจการณ์ทางทัศนะในสถานีเดินเรือบนผิวน้ำ, และเจ้าหน้าที่ดาดฟ้าในสถานีเทียบ-ออกจากเทียบ หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์จะต้องทำหน้าที่พนักงาน ESM และพนักงานถือท้ายด้วย เป็นต้น

4.png

เรือดำน้ำ U32 กับเกาะ Drake Island ในอ่าว Plymouth เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559

เพื่อเป็นการซึมซับประสบการณ์การปฏิบัติงานในเรือดำน้ำได้มากยิ่งขึ้น ต้นเรือได้แจกจ่ายเอกสาร Wachoffizier Schülerordner ลักษณะเดียวกับเอกสาร Personnel Qualification Standard (PQS) สำหรับตำแหน่งนายทหารยามพรรคนาวิน ให้กับคณะสังเกตการณ์และนักเรียนนายเรือเกาหลีใต้ ภายในเอกสารประกอบด้วยหัวข้ออุปกรณ์และการปฏิบัติต่างๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางการศึกษาข้อมูลและฝึกปฏิบัติกับระบบต่างๆ ในเรือดำน้ำ โดยต้องมีการ “ล่าลายเซ็น” เหมือนกับการทดสอบ PQS ด้วย ซึ่งเรือดำน้ำ U32 มีการฝึกทั้งในส่วนของการสนับสนุนการฝึก FOST และการฝึกภายในเรือเองเป็นประจำทุกวันตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ ทำให้คณะสังเกตการณ์ได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่างๆ อย่างครบถ้วน

การฝึกที่สำคัญที่สุดคือการฝึกสถานีฉุกเฉินและป้องกันความเสียหาย ในกรณีน้ำรั่วเข้าเรือ หรือกรณีไฟไหม้ ซึ่งจะมีการฝึกเป็นประจำเกือบทุกวันโดยเป็นการปลุกกำลังพลทั้งลำในช่วงใกล้เวลาเปลี่ยนยาม และจะใช้คำสั่งการสั้นๆ ว่า “Alarm” ตามสถานการณ์ฝึกแต่ละครั้งที่ ผบ.เรือจะเป็นผู้กำหนด โดยในสถานีฉุกเฉินจะนำเรือไปที่ความลึกปลอดภัย (Safe Depth)  และกำลังพลทุกนายจะต้องสวมเสื้อแจ็คเก็ตแขนยาวรูดซิปขึ้นถึงคอเพื่อป้องกันประกายไฟ กับตามห้องต่างๆ ในเรือดำน้ำจะมีหน้ากากสำหรับระบบหายใจฉุกเฉินในกรณีที่เกิดควันหรือก๊าซพิษขึ้นในเรือ การปฏิบัติในการฝึกผู้ที่ไม่ได้เข้าหน้าที่เวรยามจะต้องไปรวมพลที่หน่วยซ่อมเพื่อทำหน้าที่เป็นชุดป้องกันความเสียหาย ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรยามจะทำหน้าที่ควบคุมเรือต่อไป

ในส่วนของความเป็นอยู่อื่นๆ ในเรือดำน้ำ U32 มีเตียงจำนวน 23 เตียง สำหรับกำลังพลจำนวน 27 นาย (ยกเว้น ผบ.เรือที่มีห้องส่วนตัว) ทำให้ต้องมีการจัดที่พักแบบ Hot Bunking เป็นบางส่วน ซึ่งคณะสังเกตการณ์ 2 นายได้อาสาใช้เตียงเพียง 1 เตียงแบบ Hot Bunking เนื่องจากเตียงนายทหารมีเพียง 8 เตียง ที่แบ่งเป็นเตียง 3 ชั้น 2 เตียง และเตียง 2 ชั้น 1 เตียง ไม่เพียงพอสำหรับนายทหารประจำเรือ 7 นายและคณะสังเกตการณ์อีก 2 นาย นอกจากจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอแล้ว พื้นที่เก็บของภายในเรือดำน้ำยังคับแคบและมีจำกัดอีกด้วย โดยแต่ละเตียงจะมีกล่องเก็บของเล็กๆ ใต้เตียง 1 กล่อง และตาข่ายแขวนเหนือเตียงสำหรับเก็บของใช้ส่วนตัว กับมีตู้เสื้อผ้าเพียง 2 ตู้สำหรับห้องพักนายทหารทั้ง 8 เตียง ที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากคือในเรือดำน้ำ U32 มีนายทหารหญิง 2 คน ในตำแหน่งต้นกลและนายทหารยามที่ 4 ซึ่งความเป็นอยู่ในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ามีความแออัดคับแคบมากจนไม่สามารถแยกห้องนอนและห้องน้ำโดยเฉพาะสำหรับนายทหารหญิงได้ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างนายทหารชายและหญิง

การรับประทานอาหารในเรือดำน้ำ U32 มีห้องเมสขนาด 7 ที่นั่ง และโต๊ะรับประทานอาหารหน้าห้องเมสบริเวณข้างคลังตอร์ปิโดอีก 2 โต๊ะ โต๊ะละ 4 ที่นั่ง อาหารในเรือดำน้ำจัดเป็น 4 มื้อ ลักษณะรายการอาหารจะเป็นอาหารตามวัฒนธรรมเยอรมัน คือมื้อเช้าและมื้อเย็นจะเป็นขนมปัง-ชีส-แฮม ส่วนมื้อกลางวันและมื้อดึกจะเป็นอาหารร้อน หลังจากการรับประทานอาหารแต่ละมือยามออกจะช่วยกันเก็บล้างจานโดยไม่แบ่งแยกนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวน และยิ่งเก็บล้างเสร็จเร็วเท่าไหร่ก็จะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเท่านั้น

ในเรือดำน้ำ U32 มีห้องน้ำจำนวน 2 ห้อง ห้องน้ำแต่ละห้องประกอบด้วยห้องอาบน้ำ 1 ห้อง  โถส้วม 1 โถ และอ่างล้างหน้า 1 – 2 อ่าง แต่โดยปกติจะใช้ห้องน้ำเพียงห้องเดียวเนื่องจากห้องน้ำ 1 ห้องอยู่ติดกับห้องนอนและการใช้ห้องน้ำดังกล่าวจะเป็นการส่งเสียงรบกวนยามออกที่กำลังพักผ่อน ยกเว้นในช่วงเปลี่ยนยามที่สามารถใช้ห้องน้ำได้ทั้ง 2 ห้อง การใช้ห้องน้ำแต่ละคนจะต้องทำความสะอาดเบื้องต้นและเช็ดห้องอาบน้ำ-อ่างล้างหน้าให้แห้งตลอดเวลา ช่วยให้ไม่มีปัญหาห้องน้ำสกปรกหรือปัญหากลิ่นเหม็นถึงแม้ว่าจะมีห้องน้ำหลักเพียง 1 ห้องสำหรับกำลังพล 28 นาย ในเรือติดตั้งเครื่องผลิตน้ำจืดที่มีกำลังผลิตเพียงพอ สามารถอาบน้ำได้ทุก 2 – 3 วัน แต่จะไม่มีการซักผ้าภายในเรือ การทิ้งน้ำเสียและขยะสดจะทิ้งทุกวันในช่วงกลางคืน และจะมีการแยกประเภทขยะอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ขยะสดที่สามารถทิ้งในทะเลได้  ขยะแห้งที่ต้องรอทิ้งบนฝั่ง และขยะรีไซเคิล

ในการฝึก FOST จะไม่มีตารางปฏิบัติในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเรือเข้าร่วมการฝึกแต่ละลำจะเดินทางกลับเข้าจอดพักและรับการส่งกำลังบำรุงที่ฐานทัพเรือ Clyde เมือง Plymouth ในส่วนของเรือดำน้ำ U32 เมื่อเข้าจอดเรียบร้อยแล้วกำลังพลประจำเรือทุกนายรวมทั้งนายทหารสัญญาบัตรจะช่วยกันยกขยะขึ้นไปทิ้งบนฝั่ง และรับเสบียงลงเรือ อีกทั้งจะมีรถบริการมารับผ้าไปซัก (เนื่องจากไม่มีการซักผ้าในเรือ) และมีรถมารับกำลังพลทั้งหมดไปพักโรงแรมในเมือง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือคับแคบไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยในเรือช่วงเรือจอด ยกเว้นผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามในเรือ 2 – 3 นาย โดยเรือดำน้ำเยอรมันมีธรรมเนียมปฏิบัติคือการล้อมวงกันดื่มเบียร์ (Einlaufbier) บนท่าเรือทุกครั้งหลังจากกลับจากปฏิบัติการในทะเล จากนั้นจึงขนกระเป๋าขึ้นรถเพื่อเดินทางไปพักในเมืองต่อไป

คณะสังเกตการณ์ขึ้นจากเรือที่เมือง Plymouth หลังเสร็จสิ้นการฝึก FOST ในวันที่ 30 กันยายน 2559 เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนเรือดำน้ำ U32 ยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจการออกปฏิบัติการในทะเล โดยได้เดินทางต่อไปเข้าร่วมการฝึก Noble Mariner ที่สก๊อตแลนด์อีกเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์กว่าจะเดินทางกลับถึงเยอรมนีในปลายเดือนตุลาคม รวมระยะเวลาออกปฏิบัติการทั้งสิ้นเกือบ 2 เดือน

5.png

ธรรมเนียม Einlaufbier ของเรือดำน้ำเยอรมัน

บทส่งท้าย

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำชั้น 212A ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าที่ทันสมัยมากที่สุด เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ รวมระยะทาง 1,766 ไมล์ทะเล หรือ 398 ชม.ทะเล ทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต  ระบบอุปกรณ์  การปฏิบัติการต่างๆ และยุทธวิธีของเรือดำน้ำ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สัมผัสได้คือความสามัคคีและการร่วมมือร่วมใจกันทั้งในการปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษาเรือให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลาโดยไม่แบ่งแยกระหว่างนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวน หรือแบ่งแยกระหว่างนายทหารชายหรือนายทหารหญิง

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนีทุกท่าน ประกอบด้วย กรมยุทธการทหารเรือ,  กรมกำลังพลทหารเรือ, กองเรือดำน้ำ,  สำนักงานผู้ช่วยทูต ทร.ไทย/เบอร์ลิน, สำนักงานผู้ช่วยทูต ทร.ไทย/ลอนดอน และสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารอังกฤษประจำประเทศไทย

โครงการเรือดำน้ำของ ทร.ปากีสถาน

เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ประธานบริษัท China Shipbuilding Industry Corporation (CSIC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) ได้แถลงข่าวยืนยันการทำสัญญาโครงการเรือดำน้ำจำนวน 8 ลำกับปากีสถาน นับเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการจากจีนหลังจากมีข่าวการจัดหาเรือดำน้ำของปากีสถานจากจีนมาตั้งแต่กลางปี 2558

15068536_1271776359545334_1125804742029738754_o

เรือดำน้ำชั้น Agosta 90B ของ ทร.ปากีสถาน

ปัจจุบัน ทร.ปากีสถานมีเรือดำน้ำชั้น Agosta รวม 5 ลำ แบ่งเป็นเรือชั้น Hashmat (Agosta 70) จำนวน 2 ลำ เข้าประจำการระหว่างปี ค.ศ.1979-1980 กับเรือดำน้ำชั้น Khalid (Agosta 90B) รุ่นใหม่จำนวน 3 ลำ เข้าประจำการระหว่างปี ค.ศ.1999-2006 โดยในปี ค.ศ.2008 ทร.ปากีสถานได้เริ่มโครงการเรือดำน้ำใหม่ทดแทนเรือเก่า โดยได้เจรจาการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น 214 จากเยอรมนีจำนวน 3 ลำ มูลค่าโครงการประมาณ 1 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ.2009 ปากีสถานได้ขอยกเลิกโครงการเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 จนต้องกู้เงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์จากกองทุน IMF

เศรษฐกิจของปากีสถานเริ่มฟื้นตัวในปี ค.ศ.2010 และต่อมาในปี ค.ศ.2011 ทร.ปากีสถานได้เริ่มเจรจาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP จำนวน 6 ลำจากจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่จีนเริ่มลงทุนในท่าเรือน้ำลึกและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมตามโครงการ China-Pakistan Economic Corridoor (CPEC) โดยปากีสถานกับจีนเจรจาโครงการเรือดำน้ำเป็นเวลาประมาณ 4 ปี จนในช่วงกลางปี ค.ศ.2015 เริ่มมีข่าวว่าปากีสถานกับจีนใกล้เสร็จสิ้นการเจรจาโครงการเรือดำน้ำ โดยเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 8 ลำ และจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือจำนวนหนึ่งในปากีสถานด้วย

ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ.2016 ทร.ปากีสถานได้ออกมาแถลงยืนยันโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 8 ลำ โดยจะเป็นการสร้างเรือในประเทศจีน 4 ลำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือโดยอู่ต่อเรือ Karachi Shipyard & Engineering Works (KSEW) อีก 4 ลำ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4-5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 11 ปี และมีกำหนดส่งมอบเรือครบ 8 ลำในปี ค.ศ.2028

591dfde0-1820-4780-bc54-b085ab2e0f22.jpg

แบบจำลองเรือดำน้ำชั้น Yuan (Type 039A) ของจีน

ถึงแม้ว่าข่าวโครงการเรือดำน้ำของปากีสถานจะเริ่มมีความชัดเจนตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.2015 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแบบเรือ โดยมีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าอาจเป็นเรือดำน้ำชั้น S20 (รุ่นส่งออกลดขนาดของเรือดำน้ำชั้น Yuan – Type 039A/B ระวางขับน้ำใต้น้ำ 2,300 ตัน) หรือเรือดำน้ำชั้น S26 (พื้นฐานเดียวกับเรือดำน้ำชั้น Yuan – Type 039A/B ระวางขับน้ำใต้น้ำ 3,400 ตัน) หรือเรือดำน้ำชั้น S30 (พื้นฐานเดียวกับเรือดำน้ำชั้น Qing – Type 032 ระวางขับน้ำใต้น้ำ 6,000 ตัน) อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงว่าเรือดำน้ำของปากีสถานจะเป็นเรือดำน้ำชั้น S26 เนื่องจากเรือดำน้ำชั้น S20 จะมีขนาดเล็กเกิดไปที่จะติดตั้งระบบ AIP และเรือดำน้ำชั้น Qing (Type 032) ยังคงเป็นเรือรุ่นทดลองของจีนที่สร้างมาเพียงลำเดียว

นอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องแบบเรือแล้ว นักวิเคราะห์ต่างชาติยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลค่าโครงการ 5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท) สำหรับเรือดำน้ำ 8 ลำ หารต่อลำออกมาได้ประมาณลำละ 625 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท) ซึ่งมีราคาแพงกว่าโครงการเรือดำน้ำ S26T ของไทยจำนวน 3 ลำ มูลค่าโครงการ 3 หมื่น 6 พันล้านบาท หารต่อลำประมาณ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท

ความแตกต่างของราคาโครงการเรือดำน้ำปากีสถาน กับโครงการเรือดำน้ำ S26T ของไทย ทำให้นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดการณ์ว่าเรือดำน้ำปากีสถานมีราคาสูงกว่าเนื่องจากมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP ซึ่งน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเนื่องจากในเอกสารเชิญชวนให้เสนอโครงการของ ทร.ไทยไม่ได้กำหนดว่าข้อเสนอเรือดำน้ำจะต้องติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP (และราคาเรือลำละ 340 ล้านดอลลาร์หรือ 1 หมื่น 2 พันล้านบาทน่าจะถูกเกินไปสำหรับเรือดำน้ำติดตั้งระบบ AIP) แต่ข้อมูลจากการแถลงข่าวของ ทร.ไทย ระบุว่าเรือดำน้ำชั้น S26T ชนะการคัดเลือกเพราะมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP

คำถามจึงอยู่ที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุของราคาที่ต่างกันเกือบ 2 เท่า ทั้งที่ปากีสถานสั่งซื้อเรือจำนวนมากกว่า และมีระบบ AIP เหมือนกับโครงการเรือดำน้ำ S26T ของไทย โดยความเป็นไปได้หนึ่งคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือโดยอู่ต่อเรือของปากีสถาน แต่มูลค่าของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือก็น่าจะถูกชดเชยด้วยจำนวนเรือของปากีสถานที่มากกว่า 2 เท่า (8 ลำต่อ 3 ลำ) นอกจากนี้ปากีสถานยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับเรือดำน้ำอยู่แล้ว คล้ายกับอินโดนีเซียที่มีเรือดำน้ำอยู่แล้วและมีโครงการเรือดำน้ำ DSME1400 จำนวน 3 ลำที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือลำที่ 3 ในประเทศอินโดนีเซียด้วย ซึ่งมีมูลค่าโครงการประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3 หมื่น 6 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยลำละ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท) ในขณะที่โครงการเรือดำน้ำ S26T ของ ทร.ไทยเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ทั้งการจัดหาเรือดำน้ำ, อาวุธ, อะไหล่, การฝึก, สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

เมื่อกลางปีที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศราได้เปิดเผยข้อมูลข้อเสนอโครงการเรือดำน้ำ S26T ของ ทร.ไทย ว่าราคาโครงการ 3 หมื่น 6 พันล้านบาท ครอบคลุมถึงเรือดำน้ำ 3 ลำ, การฝึก, อุปกรณ์ท่าเรือ, เครื่องมือพิเศษ, ตอร์ปิโดจริง 4 ลูก, ตอร์ปิโดฝึก 2 ลูก, และการสนับสนุนหลังการขาย แต่ไม่รวมรายการที่จะต้องจ่ายเพิ่ม ได้แก่ ระบบส่งกำลังบำรุงรวม (Integrated Logistic System), อะไหล่ซ่อมบำรุง 2 ปี, เครื่องฝึก Simulator, ลูกอาวุธเพิ่มเติม และอาวุธปล่อยนำวิถี ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าโครงการเรือดำน้ำ S26T ของ ทร.ไทย เป็นการทุ่มตัดราคาของจีนโดยเสนอแพคเกจบางอย่างไม่ครบถ้วน (เช่น มีตอร์ปิโดเพียง 4 ลูกสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ) ทำให้มีราคาถูกกว่าโครงการของปากีสถานถึงเกือบครึ่ง


ที่มา

 

การฝึกนักเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การขยายตัวของกำลังเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังทางเรือของประเทศในภูมิภาคมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีประเทศที่มีเรือดำน้ำถึง 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังคลาเทศ, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เกาหลีเหนือ, ปากีสถาน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และเวียดนาม

xapkf96

เรือดำน้ำของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ภาพจาก Naval Graphics)

นอกจากกำลังเรือดำน้ำในปัจจุบันแล้ว หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มเติมเพื่อขยายขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการใต้น้ำ หรือเป็นการจัดหาเรือดำน้ำใหม่เพื่อทดแทนเรือเดิม ในขณะที่บางประเทศเป็นการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นครั้งแรก ซึ่งโครงการจัดหาเรือดำน้ำในภูมิภาคมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยฐานข้อมูลการวิเคราะห์ของ IHS Military & Security Assessments Data Analytics ระบุว่าปัจจุบันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีเรือดำน้ำประเภทต่างๆ ตั้งแต่เรือดำน้ำจิ๋ว (Midget Submarine) ไปจนถึงเรือดำน้ำ SSBN รวม 223 ลำ ในจำนวนนั้นเป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า (SSK) ถึง 129 ลำ คิดเป็น 57.8% ของจำนวนเรือดำน้ำประเภทต่างๆ ทั้งหมด และในห้วง 10 ปีข้างหน้าโครงการเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์

Top-Trends-Graph-6.png

แนวโน้มการขยายตัวของการจัดหาเรือดำน้ำแบ่งตามภูมิภาค (ภาพจาก Avascent)

การขยายตัวของโครงการเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาการฝึกนักเรือดำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติการ นอกจากนี้บางประเทศยังใช้การพัฒนาการฝึกนักเรือดำน้ำเพื่อสนับสนุนการกำหนดความต้องขีดความสามารถในการจัดหาเรือดำน้ำใหม่อีกด้วย โดยบทความนี้จะยกตัวอย่างการฝึกนักเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเปรียบเทียบวิธีการและวัตถุประสงค์ของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันไป

อินเดีย

ทร.อินเดียกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kalvari (Scorpene) จำนวน 6 ลำตามโครงการ P75 โดยเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือในประเทศจากบริษัท DCNS ของฝรั่งเศส ซึ่งอินเดียมีนโยบายการพึ่งพาตนเองทั้งในส่วนของการสร้างเรือ, การซ่อมบำรุง รวมถึงการฝึกนักเรือดำน้ำด้วย เห็นได้จากการที่อินเดียได้กำหนดให้บริษัท DCNS ทำการฝึกอบรมหลักสูตรระบบการควบคุมเรือ (Platform Management System – PMS) และเครื่องถือท้าย (Steering Console) สำหรับกำลังพลรับเรือดำน้ำชั้น Kalvari 2 ลำแรกในประเทศอินเดียเมื่อปี ค.ศ.2014 แทนการฝึกอบรมที่ฝรั่งเศส โดยจัดการฝึกอบรมที่บริษัท HBL Power Systems ของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบ PMS และเครื่องถือท้ายสำหรับเรือดำน้ำชั้น Kalvari

d920efd36abbf3869c6ca98f3abbe19b-57bedc4e177b1

INS Kalvari เป็นเรือดำน้ำลำแรกจาก 6 ลำตามโครงการ P75 (ภาพจาก Bangla Tribunes)

การฝึกกำลังพลรับเรือดำน้ำชั้น Kalvari ในอินเดีย เป็นการดำเนินการภายใต้การควบคุมของบริษัท DCNS โดยใช้ครูฝึกจากฝรั่งเศส ร่วมกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกที่รวมถึงเครื่องฝึกจำลอง (Moving Platform Simulator) ที่นอกจากจะจำลองระบบการถือท้าย, การควบคุมการดำ และการควบคุมระบบขับเคลื่อนของเรือแล้ว ยังสามารถจำลองอาการเคลื่อนไหวของเรืออีกด้วย โดยอินเดียได้เริ่มการฝึกกำลังพลรับเรือควบคู่ไปกับการสร้างเรือดำน้ำเพื่อให้กำลังพลรับเรือมีความพร้อมในการฝึกปฏิบัติในทะเลเมื่อการสร้างเรือแล้วเสร็จ

เวียดนาม

ทร.เวียดนามเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo (Project 636) จำนวน 6 ลำจากรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2009 นับเป็นหนึ่งในประเทศน้องใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ โดยเวียดนามได้ส่งนักเรือดำน้ำชุดแรกไปรับการฝึกที่รัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2010 เพื่อกลับไปถ่ายทอดความรู้ให้กับกำลังพลรับเรือดำน้ำลำต่อๆ ไป โดยการฝึกอบรมกำลังพลชุดแรกที่รัสเซียแบ่งออกเป็นการฝึกอบรมภาษารัสเซียเพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษา และการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำเป็นภาษารัสเซีย

1_73550.jpg

เรือดำน้ำชั้น Kilo (Project 636) ของเวียดนาม (ภาพจาก VietTimes)

นอกจากการฝึกกำลังพลชุดแรกที่รัสเซียแล้ว ทร.เวียดนามยังได้ทำความตกลงกับ ทร.อินเดียเมื่อปี ค.ศ.2013 ในการส่งนักเรือดำน้ำเวียดนามไปรับการฝึกที่โรงเรียนเรือดำน้ำ INS Satavahana ของอินเดียอีกด้วย โดยถึงแม้ว่าเวียดนามจะเคยจัดหาเรือดำน้ำ Midget มาก่อนในช่วงทศวรรษที่ 1990 แต่ก็ยังขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติการเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเรือดำน้ำชั้น Kilo ซึ่งเวียดนามมีความต้องการที่จะเรียนรู้จากอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการใช้งานเรือดำน้ำชั้น Kilo (Project 877) ในพื้นที่ทะเลเขตร้อนมาเป็นเวลายาวนาน

มาเลเซีย

ทร.มาเลเซียส่งกำลังพลกว่า 40 นายไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรเรือดำน้ำจากประเทศต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เพื่อเตรียมศึกษาข้อมูลสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (คล้ายกับ ทร.ไทย ที่ส่งกำลังพลจำนวนมากเกือบ 30 นายไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรเรือดำน้ำที่เยอรมนีและเกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ.2556 เพื่อเตรียมเริ่มโครงการเรือดำน้ำ) โดย ทร.มาเลเซียได้จัดหาเรือดำน้ำชั้น Perdana Menteri (Scorpene) จำนวน 2 ลำจากบริษัทร่วมทุนระหว่าง DCNS ของฝรั่งเศสกับ Navantia ของสเปนเมื่อปี ค.ศ.2002 และเริ่มส่งนักเรือดำน้ำไปรับการฝึกที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.2003 และในระหว่างปี ค.ศ.2005-2009 มาเลเซียได้เช่าซื้อเรือดำน้ำ Ouessant (ชั้น Agosta 70) เพื่อทำการฝึกกำลังพลรับเรือดำน้ำคู่ขนานไปกับการสร้างเรือ โดยการฝึกกำลังพลรับเรือดำน้ำที่ฝรั่งเศสได้แล้วเสร็จในปี ค.ศ.2009 พร้อมกับการขึ้นระวางประจำการเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ คือ KD Tunku Abdul Rahman และ KD Tun Abdul Razak

USW_Summer_2016_1.jpg

เครื่องฝึกควบคุมการดำ Diving Control and Platform Simulator (SIMDIVE) ของ ทร.มาเลเซีย (ภาพจาก Undersea Warfare Magazine)

ทร.มาเลเซียได้เริ่มสร้างศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ (Submarine Training Center – STC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฐานทัพเรือดำน้ำ Sepangar ในปี ค.ศ.2007 ประกอบด้วยห้องเรียน, ห้องปฏิบัติการ, อุปกรณ์การฝึกอบรม และเครื่องฝึกจำลองต่างๆ ได้แก่ เครื่องฝึกควบคุมการดำ (Diving Control and Platform Simulator), เครื่องฝึกเดินเรือและศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (Submarine Navigation, Combat System, Sensors and Periscope Simulator), เครื่องฝึกการป้องกันน้ำท่วม (Flood and Leak Trainer), เครื่องฝึกดับไฟ (Fire Fighting Trainer) และหอฝึกหนีภัยจากเรือดำน้ำ (Submarine Escape Trainer) โดยในช่วงแรกยังคงมีครูฝึกจากฝรั่งเศสทำหน้าที่สนับสนุนการฝึกเพื่อสร้างครูฝึกเรือดำน้ำรุ่นแรกให้กับ ทร.มาเลเซีย

USW_Summer_2016_2.jpg

หอฝึกหนีภัยจากเรือดำน้ำ (Submarine Escape Trainer) ของ ทร.มาเลเซีย (ภาพจาก Undersea Warfare Magazine)

ในส่วนของการฝึกหนีภัยและช่วยเหลือกู้ภัยเรือดำน้ำ เมื่อปี ค.ศ.2012 ทร.มาเลเซียได้ทำสัญญาเช่าเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ MV Mega Bakti เป็นระยะเวลา 8 ปี และได้ทำความตกลงกับ ทร.สหรัฐฯ ในการสนับสนุนยานกู้ภัยเรือดำน้ำ PRM (Pressurized Rescue Module) พร้อมด้วยอุปกรณ์ไปติดตั้งบนเรือ MV Mega Bakti ในระหว่างการฝึกหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริง โดยเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ MV Mega Bakti พร้อมด้วยยานกู้ภัย PRM ได้เข้าร่วมการฝึกนานาชาติเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2016 คือการฝึกช่วยเหลือกู้ภัยเรือดำน้ำนานาชาติ Pacific Reach ที่เกาหลีใต้

สิงคโปร์

ทร.สิงคโปร์เริ่มส่งกำลังพลไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรเรือดำน้ำที่เยอรมนีในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่อเตรียมศึกษาข้อมูลสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดย ทร.สิงคโปร์ได้จัดหาเรือดำน้ำชั้น Challenger (Sjöormen) จำนวน 4 ลำจากสวีเดนในปี ค.ศ.1995 และต่อมาได้จัดหาเรือดำน้ำชั้น Archer (Södermanland) อีกจำนวน 2 ลำจากสวีเดนในปี ค.ศ.2005 ซึ่งกำลังพลรับเรือดำน้ำของสิงคโปร์ทั้งหมดผ่านการฝึกจาก ทร.สวีเดน (ต่างจากกำลังพลรับเรือดำน้ำเวียดนามที่ได้รับการฝึกในรัสเซียเพียงชุดแรกชุดเดียว) ในขณะเดียวกัน ทร.สิงคโปร์ได้เริ่มการฝึกนักเรือดำน้ำในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปคู่ขนานไปกับการฝึกกำลังพลรับเรือดำน้ำที่สวีเดนด้วย ภายหลังจากที่เรือดำน้ำลำแรกคือเรือ RSS Challenger เดินทางถึงสิงคโปร์ในปี ค.ศ.2001

เครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (SCTT) ของ ทร.สิงคโปร์ (ภาพจาก Cyberpioneer TV)

การจัดหาเรือดำน้ำชั้น Challenger จำนวน 4 ลำของ ทร.สิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฝึกความคุ้นเคยกับการปฏิบัติการเรือดำน้ำ โดยในปี ค.ศ.2012 ทร.สิงคโปร์ได้เริ่มเปิดใช้เครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (Submarine Command Team Trainer – SCTT) และเครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำ (Submarine Steering and Diving Trainer – SSDT) ซึ่งเป็นเครื่องฝึกจำลองที่จัดหาจากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมนี และต่อมาในปี ค.ศ.2015 ทร.สิงคโปร์ได้ปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชั้น Challenger จำนวน 2 ลำ คือเรือ RSS Challenger และเรือ RSS Centurion โดยได้ทำพิธีเปิดศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ RSS Challenger ขึ้นเป็นหน่วยใหม่ในวันเดียวกัน นอกจากนี้ ทร.สิงคโปร์ยังได้ส่งนักเรือดำน้ำไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรเรือดำน้ำในประเทศต่างๆ เช่น หลักสูตร ผบ.เรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี และ ทร.เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

การฝึกในเครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำ (SSDT) ของ ทร.สิงคโปร์ (ภาพจาก ทร.สิงคโปร์)

เครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (SCTT) ของ ทร.สิงคโปร์ เป็นระบบจำลองการทำงานของห้องศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ สำหรับฝึกการปฏิบัติการและยุทธวิธีเรือดำน้ำภายใต้สภาพแวดล้อมจำลองที่มี ความเสมือนจริง โดยมีส่วนประกอบได้แก่ ระบบอำนวยการรบ, ระบบตรวจจับทั้งโซนาร์ ESM และกล้อง Periscope, และระบบอาวุธ โดยสามารถทำการปรับเปลี่ยนระบบย่อยภายในได้เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและ สถานการณ์การฝึก ส่วนเครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำ (SSDT) เป็นการจำลองการทำงานของเครื่องถือท้ายเรือดำน้ำ และระบบควบคุมการดำ (Diving Station) สำหรับฝึกการดำและการควบคุมเรือดำน้ำด้านการช่างกล เช่น การควบคุมถังดำ (Main Ballast Tank), ระบบขับเคลื่อน, ระบบการถ่ายเทของเหลว และระบบอากาศอัด โดยเครื่องฝึก SSDT ติดตั้งบนฐานแท่นเคลื่อนที่ที่สามารถจำลองอาการโคลงของเรือได้ถึง +/- 60 องศา ช่วยให้สามารถฝึกการปฏิบัติงานและการแก้ไขเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายจนไม่สามารถทำการฝึกได้ในเรือดำน้ำจริง โดยยังคงความสมจริงและความปลอดภัยสำหรับผู้รับการฝึก

ภาพจำลองเรือดำน้ำ Type 218SG ของสิงคโปร์ (ภาพจากบริษัท TKMS)

ปัจจุบัน ทร.สิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างการจัดหาเรือดำน้ำ Type 218SG จำนวน 2 ลำจากเยอรมนีเพื่อทดแทนเรือรุ่นเก่า โดยบริษัท ST Engineering ของสิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอำนวยการรบร่วมกับบริษัท Atlas Elektronik ของเยอรมนี ซึ่ง ทร.สิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการรองรับการฝึกกำลังพลประจำเรือดำน้ำรุ่นใหม่ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

ไทย

ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้เครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (SCTT) จากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมนี โดย ทร.ไทยได้จัดหาเครื่องฝึกดังกล่าวพร้อมกับการสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำเมื่อปี พ.ศ.2555 และได้เริ่มเปิดใช้งานเครื่องฝึกในปี พ.ศ.2557 นอกจากนี้ข้อมูลจากบริษัท Rheinmetall ยังระบุว่าเครื่องฝึก SCTT ของไทยสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องฝึกปราบเรือดำน้ำ (Anti-Submarine Warfare Simulator – ASWS) เพื่อทำการฝึกร่วมกันในสถานการณ์การฝึกเดียวกันได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ทร.ไทยยังไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ โดยเครื่องฝึก SCTT ของไทยเป็นการจำลองระบบและขีดความสามารถของเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าสมัยใหม่ทั่วไป ไม่ได้เป็นการจำลองเรือดำน้ำแบบใดแบบหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ.2556 ทร.ไทยยังได้ส่งกำลังพลจำนวนเกือบ 30 นายไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรเรือดำน้ำที่เยอรมนีและเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดหาเครื่องฝึกและส่งกำลังพลไปรับการฝึกอบรมในต่างประเทศเพื่อศึกษาขีดความสามารถและยุทธวิธีของเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าสมัยใหม่ สำหรับกำหนดความต้องการและเตรียมการรองรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งปัจจุบัน ทร.ไทยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น S26T จำนวน 1 ลำจากจีน และได้บรรจุงบประมาณเป็นเงิน 700 ล้านบาทสำหรับโครงการเรือดำน้ำในแผนงบประมาณประจำปี 2560 แล้ว

a_246

พล.ร.อ.นริส  ประทุมสุวรรณ ผบ.กร. (ในขณะนั้น) ระหว่างตรวจเยี่ยมเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 (ภาพจากกองทัพเรือ)

ไต้หวัน

อีกประเทศหนึ่งที่มีแนวคิดในการเครื่องฝึกเรือดำน้ำเพื่อศึกษาขีดความสามารถและเตรียมรองรับโครงการเรือดำน้ำใหม่คือไต้หวัน โดยบริษัท Ching Fu Shipbuilding ได้เปิดตัวเครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำ ในงาน Kaohsiung International Maritime and Defense Exhibition เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยทางบริษัทจะเสนอเครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำให้กับ ทร.ไต้หวันเพื่อช่วยในการกำหนดความต้องการและขีดความสามารถในโครงการสร้างเรือดำน้ำในประเทศของไต้หวัน โดยเครื่องฝึกดังกล่าวประกอบด้วย ระบบควบคุมการดำ, ระบบควบคุมแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้า, ระบบควบคุมระบบขับเคลื่อน และเครื่องถือท้าย โดยบริษัท Ching Fu Shipbuilding ได้ทำการพัฒนาระบบควบคุมเรือดำน้ำมาเป็นเวลา 10 ปี ร่วมกับอดีตนักเรือดำน้ำไต้หวันที่ผ่านการฝึกจากเนเธอร์แลนด์ และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอเป็นผู้ผลิตระบบควบคุมเรือดำน้ำในโครงการเรือดำน้ำใหม่ของไต้หวันต่อไป

_541.jpg

เครื่องฝึกการถือท้ายและควบคุมเรือดำน้ำของบริษัท Ching Fu Shipbuilding (ภาพจาก Up Media)

สรุป

จากแนวโน้มการขยายขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุกับเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการในทะเลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในหนทางการป้องกันปัญหาดังกล่าวคือการฝึกนักเรือดำน้ำให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการใต้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้เครื่องฝึกเรือดำน้ำยังสามารถใช้สนับสนุนการกำหนดความต้องการและการทดสอบขีดความสามารถของเรือดำน้ำรุ่นใหม่ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของประเทศต่างๆ ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาขีดความสามารถด้านการฝึกนักเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังเรือดำน้ำเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถโดยรวมของกำลังทางเรือในภูมิภาค


ที่มา